วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเมืองแบบไทยๆ ผ่าน มือปืน/ดาว/พระเสาร์ และ อินทรีแดง


                                    

การเมืองแบบไทยๆ ผ่าน มือปืน/ดาว/พระเสาร์ และ อินทรีแดง 

สังคมไทยนั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมที่บริโภคข่าวสารเป็นหลัก ผู้คนในประเทศจะต้องรับรู้ข่าวสารที่สำคัญในแต่ละวันเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และจะได้ไม่ตกยุค โดยเฉพาะกับข่าวการเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุด อาจเป็นเพราะการเมืองเป็นเรื่องของปากท้องที่ทุกคนต้องติดตาม การเมืองเป็นเรื่องน้ำเน่าไม่ต่างอะไรไปจากละครโทรทัศน์ หรือการเมืองเป็นเรื่องสนุก ดังจะเห็นได้จากการสนทนายามเช้าของสภากาแฟตามที่ต่างๆ และรายการข่าวทางโทรทัศน์ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอจากรายงานข่าวมาเป็นการเล่าข่าวแทนเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและไม่น่าเบื่อ ดังนั้นเรื่องของการเมืองจึงถูกโฉลกกับคนในสังคมไทยไม่หนีหายไปไหน
      
เมื่อเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญในระดับประเทศ แวดวงบันเทิงเองก็เอาการเมืองมานำเสนอบ้าง มีการผลิตความเป็นการเมืองในบริบทที่แตกต่างกันออกไป มีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ละคร เพลง หรือแม้แต่หนังสือการ์ตูนก็หยิบยกเอาการเมืองมายั่วล้อกันอย่างสนุกสนาน แต่ที่ดูจะมีอิทธิพลมากที่สุด(ในความคิดผู้เขียน) คงเห็นจะเป็นภาพยนตร์เท่านั้น อาจจะเป็นเพราะว่าทุนสร้าง การดำเนินงานสร้าง บทภาพยนตร์ที่นำเสนอการเมืองได้หลายแง่มุมมากกว่า รวมทั้งความเชื่อของคนบางกลุ่มว่าการสร้างภาพยนตร์ที่นำเสนอการเมืองนั้นถ้าบทหนังดีมีคุณภาพจะมีโอกาสได้รับรางวัลอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงมีโอกาสชมภาพยนตร์การเมืองทั้งไทยและเทศที่มีบทดีๆและได้รับรางวัลมาอย่างมากมาย  

บทความชิ้นนี้จะขอนำเสนอภาพยนตร์ไทย2เรื่อง2รส ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองอย่าง มือปืน/ดาว/พระเสาร์ ของยุทธเลิศ สิปปภาค และอินทรีแดงของ วิศิษฏ์  ศาสนเที่ยง  ภาพยนตร์สองเรื่องนี้มีการเมืองเหมือนกัน มีการกล่าวถึงนักการเมืองเหมือนกัน และค่อนข้างมีอะไรหลายอย่างแฝงไว้ในภาพยนตร์เหมือนกัน

มือปืน/ดาว/พระเสาร์ เล่าเรื่องราวของ ตี๋ ไรเฟิล นกเพลิงบางปลาม้า มือปืนรับจ้างผู้ฆ่าคนมานับไม่ถ้วนโดยเฉพาะกับนักการเมืองเขาเชื่อว่านักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังของการชุมนุมไม่ว่าจะสีเสื้อไหนก็ตามแต่ นักการเมืองต้องถูกกำจัดทิ้ง ตี๋มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับคริส หญิงสาวผู้สูงศักดิ์ ตี๋พบว่าคริสคือรักแท้ของเขาแต่หารู้ไม่ว่าคริสคือลูกสาวของนักการเมืองที่เขาปลิดชีวิต และเมื่อคริสรู้ว่าตี๋คือผู้ปลิดชีวิตพ่อตัวเองนั้น จึงแค้นและเกิดเป็นสงครามท่ามกลางความรักของชายหนุ่มและหญิงสาว

ว่ากันที่มือปืน/ดาว/พระเสาร์นั้นมีประเด็นความน่าสนใจอยู่ที่การนำเอาสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาของไทยมาไว้ได้อย่างกลมกลืน ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือฉากเปิดเรื่องที่นำภาพเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมาอีกด้วย   ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงประเด็นของนักการเมืองไทยที่ส่วนใหญ่แล้วคนมักจะนึกถึงในแง่ลบ นักการเมืองมักคดโกง คอรัปชั่น ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ใครหลายคนต่างโหยหานักการเมืองที่ดีจริงๆ ตัวละครอย่างตี๋ที่คิดว่านักการเมืองทุกคนนั้นเลวควรกำจัดให้สิ้นซากไม่ให้ประเทศมีนักการเมืองอีกต่อไป แต่ปัญหาอันน่าคิดอยู่ที่ว่าถ้ากำจัดนักการเมืองให้หมดนั้น ประเทศนี้ยังจะเป็นระบอบเดิมอยู่หรือไม่  ระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิในการเลือกตั้ง ให้สิทธิในการเลือกผู้แทนราษฎรเข้าสภา ให้สิทธิในการที่ผู้แทนราษฎรเข้ารับตำแหน่งสำคัญๆ และเข้ามาบริหารงบประมาณแผ่นดินได้  อีกทั้งระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิในการชุมนุมในที่สาธารณะได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความขัดแย้งทางความคิดของตี๋เองที่มีต่อความจริงในสังคมไทย  รวมทั้งความรักของตี๋กับคริสยังมีความขัดแย้งกันทั้งความรักต่างชนชั้นอย่างมือปืนที่เปรียบเสมือนชนชั้นล่างทางสังคมกับลูกสาวนักการเมืองที่เปรียบเสมือนชนชั้นนำทางสังคม ฉากสนทนาระหว่างกันของตี๋กับคริสที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองมีวิธิคิดแตกต่างกัน ราวกับว่าถ้าเราเป็นชนชั้นที่ต่างกัน มีความคิดที่ไม่เหมือนกัน เราจะต้องขัดแย้งให้ถึงที่สุดเชียวหรือ ?

ส่วนอินทรีแดงนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข่างคล้ายกับมือปืน/ดาว/พระเสาร์อยู่ที่กล่าวถึงนักการเมืองเลวๆเหมือนกัน อินทรีแดงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกอนาคตปีค.ศ.2016 เป็นยุคที่บ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้าประเวณี รวมทั้งปัญหานักการเมืองคอรัปชั่น สังคมมีความเสื่อมโทรมลงทุกวัน สังคมไทยโหยหาวีรบุรุษเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง วีรบุรุษลึกลับอย่างโรม ฤทธิไกรหรืออินทรีแดงจึงถือกำเนิดขึ้น เขาคอยตามล่ากวาดล้างอาชญากรและนักการเมืองเลวๆโดยเขามีความเชื่อว่ากฏหมายไม่สามารถเอาผิดอะไรกับคนพวกนี้ได้ ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดของหมวดชาติ เพื่อนสนิทของโรม(เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโรมคืออินทรีแดง)ที่คิดว่าอินทรีแดงไม่ควรเข่นฆ่าผู้คนด้วยวิธีเหนือกฎหมายแบบนี้ นอกจากนี้โรมยังได้รับความช่วยเหลืออย่างห่างๆจากวาสนา เอ็นจีโอสาวที่เคยเป็นอดีตคู่หมั้นกับนายกรัฐมนตรี บุคคลสำคัญระดับประเทศ

ต้องขอบอกว่าอินทรีแดงเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอแง่มุมของนักการเมืองเลวๆได้แรงกว่าเรื่องมือปืน/ดาว/พระเสาร์เป็นอย่างมาก โดยที่กล้านำเสนอภาพพจน์ของนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวร้าย!!! จากการที่เคยประกาศหาเสียงว่าหากเลือกตนเป็นนายกจะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนเมื่อได้รับเลือกแล้วนั้นก็ไม่สนใจสิ่งที่เคยพูดในอดีต ยังคงมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง รวมทั้งการเข้ามาหาผลประโยชน์แบบเปิดเผยของชาวต่างชาติ หลายสิ่งหลายอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความเป็นจริงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น การไม่ซื่อสัตย์ในหน้าที่ของเหล่าข้าราชการ การซื้อขายประเวณีเด็กของส.ว.ที่หน้าฉากเป็นพวกมูลนิธิคุ้มครองเด็ก  การทำงานที่ล่าช้าในระบบราชการตำรวจที่ต้องขึ้นตรงต่อนักการเมือง มิหนำซ้ำหลายฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างจงใจเหมือนหรือบังเอิญเหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย อย่างการรวมกลุ่มของชาวบ้านและเอ็นจีโอเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์(เปรียบกับกรณีมาบตะพุด) การที่ให้ตัวละครตัวหนึ่งซึ่งเป็นผู้นำชาวบ้านมีชื่อว่าจรัญ(เปรียบกับกรณีของเจริญ วัดอักษร)  การชุมนุมเพื่อต่อต้านท่ามกลางการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน(เปรียบกับกรณีของการชุมนุมในแต่ละครั้งที่ผ่านมา) เหล่านี้จึงทำให้ภาพยนตร์ดูร่วมสมัยมากขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในจอและนอกจอเหมือนหรือคล้ายเป็นอย่างมาก ทั้งๆที่บทหนังถูกเขียนมากว่า3ปีที่แล้ว!!!

สิ่งที่น่าชื่นชมของภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกและการกระทำของตัวละคร ซึ่งถ้าเทียบกับอินทรีแดงฉบับมิตร ชัยบัญชา ตัวละครจะมีลักษณะแบบขาว-ดำ เป็นฝ่ายดี-ฝ่ายร้ายอย่างชัดเจน แต่อินทรีแดงฉบับนี้ ตัวละครที่ดูมีความเป็นปุถุชนเหมือนคนทั่วไป มีรัก โลภ โกรธ หลง ยกตัวอย่างโรม ฤทธิไกรหรืออินทรีแดงนั้นที่เป็นฝ่ายดีนั้น การกระทำของเขาดูจะห่างไกลกับคำว่าวีรบุรุษเป็นอย่างมาก การเข่นฆ่าผู้ร้ายอย่างเอาเป็นเอาตายโดยที่ไม่คำนึงกฎหมาย ถ้าพิจารณาในแง่ของศีลธรรมและความดีความชอบแล้วนั้น เขาจะทำอย่างนี้ได้หรือไม่ หรือแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายร้าย ก็ไม่ได้ร้ายบ้าเลือดหรือเลวมาแต่กำเนิดตามภาพยนตร์ทั่วไป ยังมีด้านดีๆให้ได้พบเห็น ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากมนุษย์อย่างเรา ที่ไม่ได้เป็นคนดีที่สุดหรือเลวที่สุด แต่มนุษย์มีทั้งสองด้านในตัวคนเดียว ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะพัฒนาบุคลิกของตัวละครในเรื่องอย่างมีที่มาที่ไป  และไม่ทำให้คนดูทั่วไป(อย่างผู้เขียน) เข้าข้างฝ่ายไหนเป็นพิเศษ ทั้งๆที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีลักษณะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ที่มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย!!!

        สรุปได้ว่าภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดูสนุกและให้อะไรมากกว่าที่คิด เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนการเมืองในสังคมไทยในหลายๆเรื่อง จะว่าไปแล้วเป็นที่น่าสังเกตว่าภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่มักจะสร้างให้นักการเมืองเป็นบุคคลที่ให้พูดถึงในแง่ลบมากกว่าในแง่บวก อาจเป็นเพราะในสังคมไทยนั้น คนส่วนใหญ่นึกถึงนักการเมืองในแง่นั้นจริงก็เป็นได้ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองจึงดูไม่ค่อยดีในสายตาของคนไทย และหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแทบจะไม่มีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนสร้างภาพลักษณ์ให้นักการเมืองในด้านดีเลย ถึงมีก็น้อยมากๆ  นั่นจึงเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าสังคมไทยมีผลต่อโลกภาพยนตร์มากขนาดไหน
       
         ตราบใดที่ยังมีการเมืองแบบไทยๆ  ก็ยังคงมีภาพยนตร์ไทยๆแบบนี้อยู่เช่นเคย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น