วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดน่ารู้ในพงศาวดาร




เมื่อพูดถึงพงศาวดาร หรือจะเรียกชื่อให้เต็มว่า “พระราชพงศาวดาร” ที่มีหลายๆฉบับเช่น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ,หลวงประเสริฐอักษรนิติ พระจักพรรดิพงศ์ หรือแม้กระทั่งพงศาวดารที่เขียนขึ้นของชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ตามความหมายของพงศาวดารนี้จะเป็นรูปแบบการจดบันทึกเป็นเรื่องราว และเหตุการณ์สำคัญของกษัตริย์ หรือพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ที่เกี่ยวกับอาณาจักร และศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรูปแบบ และเนื้อหาของพระราชพงศาวดารนี้จะเต็มไปด้วยคำราชาศัพท์ คำบาลี คำสันสกฤต เพื่อเป็นการยกย่อง และยอพระเกียรติของกษัตริย์ ซึ่งทำให้ผู้อ่าน (คนทั่วไป) หรืออาจจะมีนักเรียนนักศึกษาบ้าง ! ไม่เข้าใจเนื้อหานั้น และไม่รู้ความหมายของคำบาลี และคำสันสกฤต เลยทำให้พงศาวดารกลายเป็นหนังสือที่น่าเบื่อ และไม่มีความน่าสนใจที่ใครหลายๆคนจะหันมายิบอ่านกันบ้าง อีกทั้งยังเป็นแค่หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ว่าปีๆ นี้กษัตริย์ออกไปทำอะไรกันมาบ้าง ปีๆ นี้เกิดเหตุ เพศภัยอะไรขึ้นมาบ้าง! โดยปราศจากเหตุและผลของเหตุการณ์นั้นๆ ทว่าเรื่องราวของเหตุการณ์นั้นย่อมต้องมีความน่าสนใจอยู่บ้างให้เป็น “เกร็ดพงศาวดาร” แต่เราต้องอาศัยข้อมูลชุดอื่นๆ ที่ต่างจากพงศาวดาร ซึ่งบันทึก หรือจดหมายเหตุของชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัย ,เข้ามาทำการค้าขาย หรือเป็นเอกอัคราชทูต ซึ่งพบเห็นสิ่งใด หรือรับรู้เหตุการณ์ในสมัยนั้นก็จะจดเป็นบันทึกเรื่องราวไว้ เช่น ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ , นิโกลาส์ แซรแวส ,บาทหลวงตาชารด์ สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือแม้กระทั่งสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาบางตอนในจดหมายเหตุนี้จะอธิบายรายละเอียดได้อย่างดี มีเหตุ- ผล และอ่านเข้าใจง่ายกว่าพงศาวดาร (อ่านแล้วไม่น่าเบื่อ!)

ดังนั้นข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ได้ตังหัวข้อบทความว่า “เกร็ดน่ารู้ในพงศาวดาร” เป็นเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148 - พ.ศ. 2153) เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าฟ้าสุทัศน์ (พระราชโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ) ทรงเสวยยาพิษจนถึงแก่สวรรคต ซึ่งมูลเหตุนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระจักพรรดิพงศ์ ว่า

“ลุศักราช 597 ปีมะแมศก ทรงพระกรุณาพระราชกำหนดหมายอัยการ และส่วยสัดพัฒนากรขนานตลาด แลพระกัลปนาความเป็นนิจภัตรแก่สังฆารามวาสีอรัญวาสีบริบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบุตรสองพระองค์ องค์หนึ่งพระนามเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคๆ ประชวรพระยอดเสียพระเนตรข้างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยกพระราชบุตร ผู้พี่ขึ้นเป็นมหาอุปราช อยู่4 เดือนเศษพระมหาอุปราชกราบทูลกรุณาว่า “จะขอพิจารณาคนออก” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่าจะเป็นขบถหรือ! มหาอุปราชกลัวพระบิดาเป็นกำลัง ออกจากที่เข้าเฝ้ามาพระราชวังบวรสถานมงคล เพลาค่ำเสวยยาพิษสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัสโสกาอาดูรภาพถึงพระราชโอรสเป็นอันมาก แล้วให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพตามอย่างมหาอุปราช สมเด็จพระบาทบรมนาถบรมบพิตรพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งบำเพ็ญทานการกุศลเป็นอเนกทุกประการ ครั้นลุ 963 ปีฉลูศก ทรงพระประชวรหนัก เสด็จสวรรคต”

จากข้อความในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้บันทึกเรื่องราว และเหตุการณ์เจ้าสุทัศน์เสวยยาพิษจนสวรรคต เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคๆ ตาบอดข้างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งพระราชบุตร ผู้พี่ขึ้น (เจ้าฟ้าสุทัศน์)เป็นพระมหาอุปราช ซึ่งอยู่มาได้ 4 เดือน พระองค์จึงเข้าเฝ้าพระบิดาและทูลขอพิจารณาคนออก และก็ถูกพระบิดาตรัสกลับมาว่าจะเป็นกบฏหรือ ! และเมื่อเข้าเฝ้าเสด็จพระองค์เสด็จกลับมาวังหน้าพอพลบค่ำก็เสวยยาพิษจนถึงแก่พิราลัย อย่างไรก็ตามถ้าเราจะวิเคราะห์ถึงมูลเหตุที่เจ้าฟ้าสุทัศน์เสวยยาพิษนี้ มีประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ว่า คือ :

- การพิจารณาคนออกของเจ้าฟ้าสุทัศน์ คำว่า "คนออก" นี้คืออะไร?

- ทำไมพระเอกาทศรถจึงทรงพิโรธมาก และตรัสออกมาว่าจะเป็นกบฏหรือ?

ประเด็นแรกนี้คำว่าคนออกนี้ ทัศนะของ ต.อมาตยกุล ได้กล่าวไว้ว่า “ คำว่าออกที่ใช้ควบคู่กับคำนามมีในภาษาไทยหลายคำ เช่นคำว่า ทิศตะวันออก หมายถึงทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น เมืองออก หมายถึง เมืองขึ้นหรือเมืองประเทศราช “”คนออก”” ในที่นี้น่าจะหมายความว่า คนขึ้นหรือคนในสังกัด ซึ่งเจ้าฟ้าสุทัศน์คิดจะทำขณะที่ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชได้หลายประการ และเหตุที่พระองค์จะทำนั้น ก็เกี่ยวกับคนที่ขึ้นในสังกัดกรมพระราชวังบวรทั้งสิ้น”

จากทัศนะของ ต.อมาตยกุล ได้กล่าวไว้ว่าที่การที่เจ้าฟ้าสุทัศน์ทูลขอพิจารณาคนออกนี้ เพื่อต้องการกำลังไพร่พลมาอยู่ในสังกัดวังหน้าบ้าง เพราะว่า เมื่อพระองค์ทรงรับตำแหน่งอุปราชได้ 4 เดือนทรงเห็นว่าข้าราชการ ไพร่พลในวังหน้านี้มีมีแต่ขุนศึกเก่าๆ ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรที่แก่ชราทุพลภาพมาก หรือบางคนก็ถึงแก่กรรมลงไป เมื่อพระเอกาทศรถได้ครองราชย์สมบัติพระองค์ก็ได้โอนย้ายข้าราชการและไพร่พลจากวังหน้าของพระองค์ให้ไปเป็นราชการของวังหลวง ทำให้คนในสังกัดวังหน้านั้นขาดแคลน และไม่มีคุณภาพดังนั้นพระองค์จึงทรงคิดทูลขอคนกับพระเจ้าอยู่หัวให้มาอยู่ในสังกัดของพระองค์เองบ้างเพียงเท่านั้นเอง

ประเด็นถัดมาเมื่อทราบถึงเจ้าฟ้าสุทัศน์ทูลขอกำลังคนมาอยู่ในสังกัดวังหน้าจากพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งระบบการเมืองการปกครองในสมัยโบราณ (รัฐศักดินา) การควบคุมกำลังคนนี้ถือเป็นปัจจัยหลักของการมีฐานอำนาจทางการเมือง ดังนั้นพระเอกาทศรถจึงคิดหวาดระแวงต่อพระองค์ (พระราชโอรส) ว่าจะส้องสุ่มกำลังไพร่พลเพื่อรัฐประหาร แต่ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าเจ้าสุทัศน์คิดจะส้องสุ่มกำลังคน และทำการรัฐประหารจริงพระองค์จะไปขอพิจารณาคนออก หรือขอกำลังคนจากสมเด็จพระเอกาทศรถทำไม ! : ซึ่งมันเป็นเรื่องที่แปลกมากที่ผู้ที่จะคิดทำการกบฏจะไปทูลขอคนจากพระเจ้าแผ่นดินเพื่อมาแย่งชิงราชบัลลังก์! ซึ่งพระองค์ทรงหวาดระแวงพระทัยไปเองมากกว่าเท่านั้น!
เรื่องมูลเหตุที่เจ้าฟ้าสุทัศน์เสวยยาพิษนอกจากจะปรากฏในพงศาวดารทุกฉบับแล้วเรื่องนี้ยังปรากฏในจดหมายเหตุชาวฮอลลันดาที่เข้ามาค้าขายในสมัยนั้นชื่อ “คอนิลิอัส วัน ไนเอนโรด ( Cornelius Van Nyenrode) ที่เขียนจดหมายถึง เอส แยนเสน (H. Yansen) ที่เมืองปัตตานีวันที่ 3 พฤษภาคม คศ. 1612 (พศ. 2155)

ว่า “ เมื่อครั้งที่พวกชาวญี่ปุ่นได้ก่อความวุ่นวายในเพชรบุรีแล้วถูขับไล่ออกจากเมือง แทนที่จะกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนขอตนกลับมาคุมกันตั้งมั่นอยู่ที่เมืองบางกอก และตั้งหัวหน้าขึ้นปกครองพวกตนต่างหากโดยไม่ยอมขึ้นกับฝ่ายไทยสมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงไม่กระตือรือร้น ในอันที่จะปราบญี่ปุ่นให้ราบคาบลงไป จนกระทั่งเจ้าฟ้าสุทัศน์ออกอุบายให้พระเจ้ากรุงล้านช้างยกทัพเข้ามาถึงเมืองลพบุรี จึงได้ยกทัพออกไปตีกองทัพล้านช้าง”

เรื่องที่ปรากฏในจดหมายเหตุที่เล่าถึงพวกญี่ปุ่นก่อความวุ่นวายในพระราชอาณาจักรนี้ กับไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ซึ่งขณะนั้นเจ้าฟ้าสุทัศน์ได้ขอให้ให้พระเจ้ากรุงล้านช้างยกทัพมาช่วยปราบกบฏญี่ปุ่น เมื่อทัพขอพระองค์มาถึงเมืองละโว้ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงทราบข่าวว่าพระเจ้ากรุงล้านช้างได้ยกทัพมาก็ไม่ทรงเชื่อว่าทัพพระเจ้าล้านช้างจะมาโดยสุจริต พระองค์จึงโปรดเกณฑ์ไพร่พลออกเข้าประชิดกองทัพพระเจ้ากรุงล้านช้าง แต่ว่าทัพพระเจ้ากรุงล้านช้างล่าทัพหนีกลับไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา ถ้าประเด็นเรื่องเป็นความจริงแล้วเจ้าฟ้าสุทัศน์ถือว่ามีโทษอย่างมหันต์ที่คบคิด และกระทำการชักศึกเข้าบ้านมีความผิดถึงขั้นประหารชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นต้น

ท้ายสุดนี้ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าเราลองเอาเรื่องราวในพงศาวดารกับจดหมายเหตุของชาวฮอลันดามาประติดประต่อเนื้อความกันแล้วกันจะได้ว่า เมื่อเจ้าฟ้าสุทัศน์ทูลพิจารณาคนออกจากพระเจ้าอยู่หัวแล้วไม่ได้ตามพระประสงค์ ก็อาจจะทำให้พระองค์น้อยพระทัยแล้วจึงชักศึกเข้าบ้านก็อาจจะเป็นไปได้ และก็อาจจะเป็นมูลเหตุสำคัญของการเสวยยาพิษจนสวรรคต เพื่อหนีความผิดโทษฐานกบฏ หรือไม่ก็อาจจะโดยพระราชบิดาขอพระองค์เองสำเร็จโทษก็เป็นได้ทั้งนั้น ดังนั้นจ้าฟ้าสุทัศน์ทรงเสวยยาพิษจนถึงแก่สวรรคตนี้มูลเหตุเกิดมาจาก

“อยากได้คน จนเกิดเรื่อง”

ต. อมาตยกุล( 2516) ของดีในประวัติศาสตร์และโบราณคดี(หน้า 21-29)

จักรพรรดิพงษ์ พระ (มปป.) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น