วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จะมีอะไรหลังการเลือกตั้งในพม่า

จะมีอะไรหลังการเลือกตั้งในพม่า
โดย จอมพล ดาวสุโข




การเลือกตั้งในรอบ 20 ปีของประเทศพม่าไม่ได้ทำให้นักวิชาการหรือผู้สนใจในประเด็นของประเทศพม่าตื่นเต้น หรือตระหนกกลัวเท่าใดนัก นั่นก็เป็นเพราะการเลือกตั้งได้ถูก “วางยา” มาตั้งแต่แรกผ่านกฏกติกาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถึงย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในครั้งนี้นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในพม่าอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางร้ายก็ตาม

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งนั้นจึงดูเป็นสิ่งที่ผู้จับตาสถานการณ์ในพม่าให้ความสนใจมากกว่า โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับพม่ามากที่สุดกว่า 2,000 กิโลเมตร ยาวตลอดแนวทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ภายใต้ท่าทีที่แตกต่างกันในช่วงก่อนการเลือกตั้ง บ้างโอนอ่อนผ่อนตามรัฐบาลทหารผ่านข้อตกลงหยุดยิง และแปรขบวนกองทัพชาติพันธุ์เป็นแนวร่วมอาสาปกป้องชายแดน โดยแลกกับผลประโยชน์ที่รัฐบาลทหารมอบให้ทั้งที่เปิดเผยและปิดลับ ในขณะที่บางกลุ่มก็แสดงท่าทีต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางของพม่าผ่านการลงเลือกตั้งบ้าง หรือทำสงครามขัดแย้งกันในบางช่วงเวลา

ท่าทีก่อนการเลือกตั้งของชนกลุ่มน้อยของพม่าก่อนการเลือกตั้งนี้ แม้ว่าจะมีความคิดที่แตกต่าง แต่ทางการไทยที่ต้องเป็นฝ่ายรับบทหนักเมื่อพรมแดนฝั่งตรงข้ามมีปัญหาก็ยังคงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ จนกระทั่งช่วงเย็นของวันอาทิตย์แห่งการเลือกตั้งนั่นเอง หลายเมืองยุทธศาสตร์ของชนกลุ่มน้อยที่ประชิดชายแดนไทยถูกจู่โจมโดยกองทัพโดยไม่ทันรู้ตัว จนหลายคนบอกว่านี่คือการแสดงกฤษดาอภินิหารครั้งสำคัญหลังจากหย่อนบัตรลงคะแนนเสียง บ้างก็ว่ากล่าวโดยคำพูดเสียดสีและตลกร้ายว่า นี่คือกองทหารที่ซุกซ่อนมาพร้อมกับหีบเลือกตั้งและบัตรลงคะแนนนั่นเอง ในขณะที่บางส่วนเชื่อว่าเกิดจากที่กองทัพนั้นได้ “กลิ่น” การแข็งข้อของชนกลุ่มน้อยเดิมจึงวางกำลังเตรียมการณ์ไว้ก่อนหน้า พร้อมชิงบุก “กระชับพื้นที่” ในช่วงที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยยังไม่พร้อม

ไม่ว่าต้นสายของเสียงปืนแตกครั้งนี้จะเป็นอย่างไร แต่ผลที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านที่ไม่ทันตั้งตัวต่างพากันอพยพ “หนีภัย” มายังฝั่งไทยเป็นจำนวนมหาศาลในหลายจุดสำคัญ เช่นที่ด่านแม่สอด หรือที่ด่านเจดีย์สามองค์ เป็นต้น การเข้ามา “หนีภัย” ของคนนับหมื่นนั้นทำให้ไทยที่มีนโยบาย “ไม่เปิด” และ “จะปิด” การขออพยพมาตั้งแต่แรกนั้นอิหลักอิเหลื่อเป็นอย่างมาก เพราะแหล่งข่าวมีความชัดเจนว่า ท่าทีของไทยหลังการเลือกตั้งพม่าเสร็จสิ้นคือ “ส่งกลับ” และ “ส่งกลับ” โดยอ้างว่า “พม่า” ได้ดำเนินสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย” แล้ว แต่เมื่อสถานการณ์กลับพลิกผัน แน่นอนว่าผู้มีอำนาจในกระทรวงต่างประเทศหลายคนอาจจะ “ตกเก้าอี้” และ “หมดท่า” โดยไม่ทันได้ตั้งตัว ยังไม่รวม “สินค้าส่งออก” อันได้แก่ยาเสพติดและของผิดกฎหมายที่เตรียมทะลักเข้าประเทศไทยเพื่อเป็นทุนรอนในช่วงสงคราม

เอาเข้าจริงแล้วชนกลุ่มน้อยนั้นต้องการความเป็นอิสระมากกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป นักข่าวอาวุโสท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า แม้อองซานซูจีจะได้ขึ้นมาบริหารประเทศ พวกเขาก็ยังคงไม่ไว้ใจต่อรัฐบาลกลางที่เมืองหลวงอยู่ดี เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือ การไม่เข้ามาแทรกแซงการปกครองของชนกลุ่มน้อย นั่นเท่ากับว่า พวกเขาต้องการความเป็น “อิสระ” ต่อรัฐบาลกลาง ตามข้อตกลงปางโหลงที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเพื่อสร้างการต่อรองเรียกร้องเอกราช โดยมีข้อกำหนดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เข้าร่วมจะสามารถแยกตัวได้ในภายหลัง ซึ่งตามความเป็นจริงหลังจากการสลายตัวของเจ้าอาณานิคม รัฐบาลที่นำโดยชาวพม่าไม่ได้ให้ความจริงใจตามข้อตกลง จนเกิดความขัดแย้งที่สะสมมาสู่ความเกลียดชังในปัจจุบัน

ยิ่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่รัฐบาลทหารได้สร้างข้อกีดกันในการลงคะแนนเสียงของเหล่าชนกลุ่มน้อยอย่างไม่เป็นธรรมในทุกวิถีทาง ตั้งแต่ไม่ให้รับสมัครในเขตเลือกตั้งนั้น ไม่ให้ผู้สมัครคู่แข่งหาเสียง จนกระทั่งไม่เปิดเขตการเลือกตั้งในฐานเสียงของชนกลุ่มน้อยโดยอ้างเหตุผลทางความปลอดภัยของชาวบ้าน เมื่อถูกกดในทุกทิศทางโดยไร้ซึ่งศักดิ์ศรีเช่นนี้ จึงทำให้หลายกลุ่มก้อนเริ่มไม่พอใจ จนทำให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อศัตรูคนเดียวคือ กองทัพพม่าในที่สุด และทางฝ่ายรัฐบาลนอมินีทหารที่มาจากการเลือกตั้งนั้นก็จะสามารถใช้สรรพกำลังทางการทหารได้อย่างเต็มไม้เต็มมือมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยประการหนึ่งก็เพราะเป็นการใช้อำนาจที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันท่าทีในการสร้างคาวมเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลทหารนั้นก็ต้องเดินหน้าเพื่อให้พม่าและประเทศที่ให้การสนับสนุนใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการหาผลประโยชน์มหาศาล การปล่อยนางอองซานซูจีเป็นอิสระก็อาจถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการ “หาเสียง” ของความเป็นประชาธิปไตย อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลทหารต้องการสร้างภาพเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญให้กับชาวโลกว่า ฉันได้ปลดปล่อยสัญลักษณ์ทางประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว แต่กลับกันนักโทษการเมืองอีกกว่า 2,000 คนกลับไม่ได้โชคดี(หรือโชคร้าย) เช่นเดียวกับนาง เพราะนักโทษการเมือง นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยโนเนมยังคงถูกจับกุมอยู่ในคุกอินเส่ง ไม่ได้รับการปล่อยตัวแต่อย่างใด

ผู้คนจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนพรรค NLD ที่เธอเป็นผู้นำนั้นต่างพากันดีใจกับข่าวดีนี้ เช่นเดียวกับตัวเธอที่ประกาศว่า เธอพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใสของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่เธอจะเป็นผู้นำการตรวจสอบครั้งนี้ด้วยตนเอง ท่าทีเหล่านี้อาจไม่ทำให้ “รัฐบาลทหาร” ร้อนหนาวมากเท่าใดนัก ถ้าเป็นเมื่อก่อน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าในกระแสของปัจจุบัน รัฐบาลทหารที่กำลังก้าวบันได 7 ขั้นสู่ความเป็นประชาธิปไตยก็อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนจากคำพูดของสตรีผู้ถูกยกย่องเป็นแสงเทียนแห่งประชาธิปไตยในพม่าคนนี้พอสมควร

นั่นเป็นเพราะ รัฐบาลใหม่ที่แม้จะมีหน้าตาละม้ายรัฐบาลทหารมาก แต่พวกเขาไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบเดิมได้อีก นั่นเป็นเพราะถ้าหากเขาทำเช่นนั้น ภาพลักษณ์ที่พวกเขาพยายามวางแผนสร้างมาตลอดก็จะสูญสิ้นเสียในทันที ผู้เขียนจึงเชื่อว่ารัฐบาลใหม่นั้นไม่อาจจะทำการกักขังนางในข้อหาเดิมๆที่รัฐบาลทหารเคยทำได้อีกต่อไป เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดปรากฏการณ์อันน่าตกตะลึงเช่นเมื่อชาวอเมริกันว่ายน้ำเข้าบ้านของนาง ในช่วงเวลา 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ที่รัฐบาลทหารจะยังคงรักษา “ความสงบเรียบร้อย” ภายในประเทศพม่าอยู่

เราจึงอาจได้เห็นการกีดกันนางของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยระเบียบ ข้อห้ามที่แปลกกว่าการที่นางมีสามีเป็นชาวต่างชาติ ดังที่เคยกล่าวหามาตลอดชีวิตทางการเมืองของอองซานซูจี มากกว่าการกักขังนางด้วยวิธีทางทหาร

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งจึงมีความจำเป็นต้องติดตาม โดยเฉพาะไทยที่เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดมากที่สุด เพราะผลกระทบระลอกแรกที่ออกมาจากประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อยหรือความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเมืองหลวง/เมืองใหญ่ในพม่า จะส่งแรงสะเทือนมายังประเทศไทยเป็นประเทศแรกอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น