วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยสไตล์อุษาคเนย์

จอมพล ดาวสุโข

            บทนำ
            บทความ “ประชาธิปไตยสไตล์อุษาคเนย์” มีเป้าประสงค์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางการเมืองที่โดดเด่นและคล้ายคลึงกันที่ปรากฏในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรัฐที่กล่าวว่าตนเองนั้นนิยมปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในการปกครองในรูปแบบดังกล่าว คือนัยยะที่แอบแฝงผ่านกลไกและกติกาที่เพี้ยนไปจากประชาธิปไตยในรูปแบบที่ควรจะเป็น อันมีไว้ซึ่งการรักษาอำนาจนำของชนชั้นปกครองที่มีฐานอำนาจดั้งเดิมเป็นเวลายาวนาน

            ท่าทีของรัฐบาลทหารพม่าที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างชัดเจนและเปิดเผยว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายแฝงที่สำคัญ คือ การดำรงไว้ซึ่งอำนาจของคณะทหารที่ปกครองประเทศมาเกือบครึ่งศตวรรษ ผ่านการเลือกตั้งที่ดำรงความชอบธรรมผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูร่างขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า และเพื่อประกอบคำอธิบายถึง Road Map 7 ขั้นที่รัฐบาลทหารอ้างว่าจะนำพม่าสู่ประชาธิปไตย

            นักวิเคราะห์และผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวางยาไม่ให้นำวิถีสู่ประชาธิปไตยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ผ่านความชอบธรรมในการเข้ามาของทหารในสภาต่างๆผ่านโควต้า 25% รวมทั้งสภาความมั่นคงที่อาจจะยกแผงมาจากสภาเพื่อความมั่นคงและการพัฒนาแห่งรัฐ(SPDC) ทั้งนี้ยังไม่รวมคะแนนเสียงของพรรคนอมินีทหารที่นำโดยนายพลเต่งเส็ง นายกรัฐมนตรี ที่ออกจากเครื่องแบบทหารมานุ่งโสร่ง ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสหภาพแห่งความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party : USDP) ซึ่งเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ และคาดว่าผลการเลือกตั้งพรรคนี้ก็จะได้คะแนนเสียงนำพรรคอื่นๆจากฐานเสียงที่รัฐบาลทหารได้สร้างไว้จากเครือข่าย USDA ซึ่งเป็นเครือข่ายเดิมก่อนการตั้งพรรค USDP
ธงชาติของประเทศ “สาธารณรัฐสหภาพพม่า” ที่ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่พร้อมทั้งชื่อประเทศ เพื่อลดสัญลักษณ์ความเป็นหลากหลายลงไป และเพิ่มความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ (ภาพจาก Globalgrind.com)

            ในขณะที่การเปลี่ยนสัญลักษณ์และชื่อประเทศของพม่าที่ปรับรูปแบบจากความเป็นสังคมนิยมผ่านฟันเฟืองและต้นข้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น ผู้มีอำนาจนำในพม่าเองก็ยังคงสอดแทรกด้วยประเด็นความเป็นเอกภาพที่ขัดแย้งกันเองกับลักษณะทางกายภาพของประเทศอันประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จนอาจนำไปสู่ “ข้ออ้าง” ในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่อาจมีมากยิ่งขึ้นหลัง (นอมินี)“รัฐบาลทหาร” ได้รับอำนาจอันชอบธรรมจากการเลือกตั้ง

            ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกันกับประเทศไทย ที่บทบาทของกองทัพยังคงมีความสำคัญต่อการเมืองมาตลอด ผ่านการรัฐประหาร หรือการครอบงำรัฐบาลในยุคต่างๆ ดังที่ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริได้มองไว้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศไทยและพม่านั้นไม่มีความแตกต่างเท่าใดนัก มิหนำซ้ำทหารในการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยยังยาวนานกว่าพม่าเสียอีก(นับตั้งแต่ พ..2490) เพียงแต่การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหารไทยนั้นแนบเนียนกว่าทหารพม่า ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศที่มีเป้าประสงค์คล้ายคลึงกันอีกด้วย

            “อินโดนีเซีย” ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความชัดเจนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีรูปแบบพิเศษ แม้ปัจจุบันอินโดนีเซียจะมีการเปลี่ยนแปลงและพยายามก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามเป้าประสงค์ที่แท้จริงแล้วก็ตาม(ซึ่งก็ต้องติดตามตอนต่อไป)

ประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซีย ผู้นำระบอบ “ประชาธิปไตยนำวิถี” เพื่อเสริมอำนาจทางการเมืองของตน (ภาพจาก nndb.com)

            “ประชาธิปไตยนำวิถี”(Guided Democracy) เป็นระบอบประชาธิปไตยในยุคหนึ่งที่บริหารประเทศโดยประธานาธิบดีซูการ์โนของประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นเหตุมาจากความเข็มแข็งของกองทัพที่มีเกียรติภูมิสูงจากการปราบปรามจลาจลที่แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกทางการเมืองหลังได้รับการปลดปล่อยจากมหาอำนาจฮอลันดาในช่วงทศวรรษ 1950 ที่สามารถปราบปรามการจลาจลโดยไม่เสียเลือดเนื้อ พร้อมทั้งขับไล่และยึดครองห้างร้านของชาวฮอลันดา ทำให้ชาวพื้นเมืองนิยมชมชอบ แน่นอนว่าเกียรติภูมิของทหารเหล่านั้นได้ถูกนำมาปูทางสู่ความใกล้ชิดศูนย์อำนาจทางการเมืองมากยิ่งขึ้น พร้อมๆกับการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีซูการ์โน ที่มีท่าทีไม่นิยมการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ซูการ์โนใช้วิธีการถ่วงดุลกับกองทัพเพื่อร่วมกันสร้างความเข็มแข็ง และดำเนินนโยบาย “ประชาธิปไตยนำวิถี” ที่เปรียบประธานาธิบดีเป็นบิดา และประชาชนเป็นบุตรที่ต้องเชื่อฟังผู้ปกครองในระบบครอบครัว วิถีทางดังกล่าวได้นำมาใช้ในการปราบปรามพรรคการเมืองปฏิปักษ์ผ่านคำอ้างว่าเป็นภัยต่อความสามัคคีของคนในชาติ

            ลักษณะของการพยายามสร้างและเรียกตัวเองให้เป็นประชาธิปไตยโดยสอดไส้และหมกเม็ดข้อแม้ไว้ในบางประเด็นเพื่อรักษาอำนาจเดิมของตนเองและพวกพ้อง เช่นความพยายามในการเป็นประชาธิปไตยโดยรัฐบาลทหารพม่า ยังคงปรากฏอยู่ในอีกหลายประเทศในอุษาคเนย์ที่เรียกตัวเองว่าประเทศประชาธิปไตยแต่ยังคงไว้ซึ่งผู้มีอำนาจนำเหนืออธิปไตยของปวงชน และนำมาสู่คำอธิบายว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศนั้นๆ เช่น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และ/หรือ “ประชาธิปไตยแบบพม่าๆ” ที่อาจเป็นคำอธิบายที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งประชาธิปไตยแบบ “อินโดๆ” หรือประเทศอื่นๆที่ปรากฏในลักษณะเดียวกัน

            ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอุดมไปด้วยแหล่งวัตถุดิบนอกจากได้ทำให้ชาวตะวันตกสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวผ่านพ่อค้าคนกลางได้แล้ว ยังทำให้ผู้มีอำนาจนำใต้ปีกมหาอำนาจร่ำรวยในฐานะ “นายหน้า” อีกด้วย ผู้เขียนเชื่อว่ากระบวนการรักษาอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจนำนั้นเกิดขึ้นมาจากช่วงสมัยการปลดปล่อยอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก เมื่อพลังคุ้มครองที่ทำให้ความมั่นคงและมั่งคั่งของชนชั้นปกครองเดิมที่เคยถูกรักษาไว้ใต้ปีกชาติตะวันตกนั้นต้องมลายลง ทำให้ผู้มีอำนาจต้องรักษาอำนาจผ่านทุกช่องทางที่เขาทำได้ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประชาชนชาวพื้นเมืองหรือชาติตะวันตกยอมรับ เพื่อคงอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองในประเทศ ผ่านกติกาความเป็น “ประชาธิปไตย” ที่สามารถเป็นข้ออ้างให้กลุ่มประเทศโลกเสรีใหม่ให้การยอมรับ รวมทั้ง “ประชาธิปไตย” นั้นก็เป็นคำศัพท์ที่สวยในมุมมองของผู้ปกครองที่เชื่อว่าความคิดและคะแนนเสียงของตนนั้นจะมีความสำคัญต่อก้าวต่อไปของประเทศ

            อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้เริ่มได้กลิ่นถึงความไม่ชอบมาพากลของการปกครองที่มีความหมกเม็ดซ่อนอยู่ใน “Democracy” อันสวยหรู จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทักท้วง ประท้วง และลุกฮือต่อต้านชนชั้นอำนาจเดิม ซึ่งท้ายสุดก็จะมีจุดจบที่แตกต่างกัน อาจจะเป็นชัยชนะของประชาชนสู่การเริ่มต้นประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่ ที่อาจวนกลับมาสู่ภาวะเดิม หรืออาจจะเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือผู้ชุมนุมประท้วงเหล่านั้นอาจถูกปราบปรามอย่างสาหัส ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเปิดเผยทาสแท้ของชนชั้นนำทางอำนาจว่าตนเองมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด

            บทสรุป
            แม้ว่าในภูมิภาคอุษาคเนย์ยังคงปรากฏลักษณะประชาธิปไตยในรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยหมกเม็ดและมิได้เดินไปตามเป้าประสงค์ของประชาธิปไตยที่หวังว่า “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” ในหลายประเทศเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประสบชะตากรรมในรูปแบบคล้ายๆกันเป็นเบื้องหลัง แต่กระนั้นผู้เขียนยังมีความเชื่ออย่างยิ่งว่า ความพยายามรักษาอำนาจของชนชั้นนำเดิมนั้นจะไม่คงทนถาวร ถ้าชนชั้นนำเหล่านั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม ชนชั้นเดิมก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา ผู้เขียนเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกล้วนไม่คงทนถาวร การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นนิรันดร์กว่าสิ่งอื่นใด จึงขึ้นอยู่กับว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นกับอะไร เพื่อให้คนในสังคมยอมรับและเดินหน้าไปในระบอบประชาธิปไตยพร้อมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น